ชาแนล คือแบรนด์ที่ทางนิตยสาร Forbes เคยจัดอันดับไว้ว่ามีมูลค่าแบรนด์สูงเป็นอันดับที่ 87 ของโลกเมื่อปี 2018 ด้วยภาพที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลายคน ว่าเป็นแบรนด์ที่เปี่ยมไปด้วยสไตล์ และมีเอกลักษณ์ความเป็น Feminine ชัดเจน
แต่แท้จริงแล้วแบรนด์ชาแนลจะก้าวผ่านยุคตกต่ำหลังสงครามโลกและกลายมาเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นอยู่เหนือกาลเวลาไม่ได้เลย หากขาด ‘ Karl Lagerfeld ’ (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) ดีไซน์เนอร์มากความสามารถระดับโลก ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ให้ห้องเสื้อ Chanel มามากกว่า 36 ปี ที่ร่วมสร้าง Product ไอคอนิกให้กับแบรนด์มากมาย และทำให้กระเป๋าชาแนลกลายเป็นที่หมายปองของหญิงสาวทั่วทั้งโลก
ชาแนล จากแบรนด์ที่เคยตกต่ำในยุคหลังสงครามโลก กลับกลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นอยู่เหนือกาลเวลาจวบจนปัจจุบัน ด้วยแรงปฏิวัติจากดีไซนเนอร์ระดับโลกคนนี้ ‘Karl Lagerfeld’
ประวัติเส้นทางบนสายแฟชั่นของ Karl Lagerfeld ก่อนเข้าสู่โลกของชาแนล
Karl Lagerfeld ในงานแฟชั่นโชว์ของ Chanel เดือนมีนาคม 2013
ก่อนเส้นทางจะบรรจบให้เขาได้ร่วมงานกับแบรนด์ชาแนล ‘Karl Lagerfeld’ (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) หรือ ‘ปู่คาร์ล’ ที่คนในวงการแฟชั่นให้การเรียกขาน เป็นชายที่เกิดในประเทศเยอรมนี ในเมือง Hamburg (ฮัมบวร์ก) ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อมีอายุได้เพียง 14 ปี ชอบอ่านนิตยสารแฟชั่น พร้อมกับตัดรูปมาแปะไว้ดูเล่นเป็นประจำ ราวกับว่างานอาร์ตเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของเขามาตั้งแต่จำความได้
เมื่ออายุได้ 21 ปี ย่างก้าวแรกในวงการแฟชั่นของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ก็เริ่มเฉิดฉาย เมื่อเขาได้เข้าร่วมการประกวดตัดชุดในงาน International Wool Secretaries โดย คาร์ล ได้ชนะเลิศในสาขาการตัดเย็บเสื้อโค้ท และเป็นปีเดียวกันกับที่ Yves Saint Laurent (อีฟว์ แซ็ง โลร็อง) เองก็ลงประกวด และชนะในสาขาการตัดชุดเดรสสำหรับสตรีด้วยเช่นกัน
Lagerfeld อายุ 21 ปี และ Yves Saint Laurent อายุ 18 ปี ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในขณะนั้นชนะการประกวดออกแบบแฟชั่นโดย International Wool Secretariat ในปี 1954
การชนะในการประกวดเปรียบเสมือนฟิล์มอีกม้วนหนึ่งของคาร์ล เพราะเขากลายเป็นคนในวงการแฟชั่นอย่างเต็มตัว ด้วยการร่วมงานกับห้องเสื้อแบรนด์ดังมากมาย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอิตาลี รวมไปถึงยังมีโอกาสได้ทำ Haute Couture (โอต์ กูตูร์) ภายใต้ชื่อ Roland Karl เป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถไล่เรียงแบรนด์ที่ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ได้ทำการร่วมงานก่อนเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ให้ห้องเสื้อ ชาแนล ได้ ดังนี้
- Pierre Balmain : ปิแอร์ บัลแมง เป็นดีไซเนอร์มากความสามารถในช่วงปีค.ศ. 1955 และเป็นผู้ดีไซน์ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชินินาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงใส่ครั้งตอนไปประพาสยุโรป
Karl Lagerfeld ครั้นเป็นดีไซน์เนอร์ให้ Pierre Balmain ช่วงปี 1955
- Jean Patou : ฌอง ปาตู คืออีกหนึ่งแบรนด์ชั้นนำที่คาร์ลได้เข้าไปร่วมงาน และที่นี่ทำให้เขามีผลงาน Haute Couture (โอต์ กูตูร์) ครั้งแรกภายใต้ชื่อว่า Roland Karl แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจลาออกไปเรียนต่อที่อิตาลี หลังจากที่ทำงานในห้องเสื้อมาได้ 6 ปี
Karl Lagerfeld ช่วงเป็นดีไซน์เนอร์ให้ Jean Patou จนถึงปี 1962
- Tiziano : ติเซียโน คือแบรนด์แรกหลังจากที่มาอิตาลี ซึ่ง คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ได้ร่วมงานเป็นแห่งแรก ที่ห้องเสื้อนี้ เขาได้มีโอกาสตัดชุดหรูหราให้กับดาราดังหลายท่าน รวมไปถึงบุคคลสูงศักดิ์ที่เป็นราชนิกุลด้วยเช่นกัน เช่น Doris Duke, Princess Marcella Borghese เป็นต้น
- Chloe : โคลเอ้ อีกหนึ่งแบรนด์ที่ คาร์ล รับทำเป็น Freelance ขณะเขายังศึกษาต่อ ที่นี่เขาไม่ได้รับหน้าที่เป็นดีไซน์เนอร์หลัก แต่ก็มีผลงานแปลกตาออกมาให้ร้องว้าว คือ ‘Surprise Skirt’ ที่เป็นลักษณะกางเกงที่เหมือนประโปรงแต่ยาวแค่เข่า ซึ่งยังเป็นแบบพิมพ์ที่เรายังฮิตกันมาถึงปัจจุบัน
Karl Lagerfeld ดีไซน์ให้กับ Chloe ช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 1973
- Valentino : แม้แต่วาเลนติโน คาร์ลก็ยังเคยได้เป็นฟรีแลนซ์ช่วยออกแบบมาแล้วเช่นกัน แต่เป็นเพราะเขายังติดภารกิจในการศึกษาต่อ ที่นี่จึงเป็นอีกที่ที่คาร์ลไม่ได้วาดลวดลายอะไรเป็นพิเศษเอาไว้ เพียงแต่อยู่ช่วยเป็นลูกมือเท่านั้น
- FENDI : คาร์ลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห้องเสื้อ FENDI (เฟนดิ) ในตอนที่กำลังสู่ช่วงวิกฤติ เพราะตอนนั้นทางแบรนด์ไม่มีสินค้าตัวใดชูโรง และยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คาร์ลได้รับหน้าที่ให้ดูแลฝ่ายตัดเย็บโค้ทขนสัตว์ เขาทำมันออกมาเป็นอย่างดี และมีส่วนช่วยทำให้แบรนด์ เฟนดิ กลายเป็นแบรนด์หรูหรา มีชื่อเสียง เช่นเดียวกันกับปัจจุบันนี้
- Chanel : อแลง แวร์ตไฮเมอร์ (Alain Wertheimer) ผู้เชื้อเชิญให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เข้ามามีส่วนร่วมในแบรนด์ ชาแนล เขาตัดสินใจตอบรับในทันที และร่วมงานกับแบรนด์ทางแบรนด์ชาแนลมาจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ภาพ Karl Lagerfeld พรีเซ็นท์น้ำหอม “KL” ของเขาในปี 1982
กระเป๋าชาแนล ซิกเนเจอร์ที่ทำให้แบรนด์ Chanel อยู่เหนือกาลเวลา พร้อมกับชายผู้ชื่อว่า Karl
Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) เริ่มต้นทำงานกับแบรนด์ชาแนล ในปีค.ศ. 1982 เขาได้พลิกโฉมหน้าแบรนด์ Chanel ให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง จากการคิดค้น Signature ใหม่ ๆ ให้ผู้คนจำภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ง่ายกว่าเดิม เช่น สัญลักษณ์ตัว C ไขว้ หรือดอกคามีเลียสีขาว เป็นต้น โดยเขาได้นำสัญลักษณ์เหล่านี้ Present ไว้เป็นตราประทับของสินค้า จนผู้คนจดจำได้อย่างขึ้นใจว่านี่คือแบรนด์ Chanel (ชาแนล)
กระเป๋าชาแนล คงเป็นอีกหนึ่ง Product ที่ใครหลายเพียงแค่หลับตาก็เห็นพิมพ์ภาพติดตา ด้วยการประยุกต์ใส่โซ่ทอง ใช้หนังหลากหลายแบบ และมีออกมาหลากหลายรุ่น ซึ่งสามารถแบ่งเป็นรุ่นที่นิยมและคลาสสิคตลอดกาลได้ ดังนี้
- Chanel Classic Flab Fag
- Chanel’s GRABRIELLE Bag
- Chanel Boy Bag
- Chanel Largh Shopping Tote
- Chanel Wallet Chain Bag
เมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง ที่วงการแฟชั่นเพิ่งพบเจอกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 87 ปี แม้เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) ก็ยังได้ทิ้งผลงานแฟชั่นครั้งสุดท้ายไว้ให้กับห้องเสื้อชาแนลในต้นเดือนมกราคม ก่อนจะอำลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบ
ผลงานที่เราได้เรียนรู้จากเขาในวันนี้ แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของการเดินทางในวงการแฟชั่นที่ตรากตรำและฝ่าฟันซึ่งอุปสรรคมาอย่างมากมาย แต่ Karl Lagerfeld ก็ไม่เคยยอมแพ้ และทำให้แบรนด์ที่คนเกือบจะลืมเลือนอย่าง Chanel ได้กลับมาเป็นอภิมหาแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าได้อีกครั้ง เฉกเช่นกับชีวิตของเขาที่คนรุ่นหลังจะต้องพูดถึงสืบต่อไปไม่ลืมเลือน